มาตรฐานและการทดสอบ IoT (ตอนที่ 1)

 

source : https://iot-analytics.com

 

จากข้อมูล บริษัท Gartner ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาทางด้านเทคโนโลยี ได้ประมาณการไว้ว่าภายในปี 2563 จะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้นประมาณ 20,800 ล้านอุปกรณ์เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 300 จาก 6,400 ล้านอุปกรณ์ในปี 2559*

ด้วยจำนวนอุปกรณ์และความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและหลากหลาย ในการที่อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จึงทำให้อุปกรณ์และระบบ IoT นั้นก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น ระบบที่จอดรถอัจฉริยะ ถังขยะอัจฉริยะ
กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ เป็นต้น ทั้งนี้ในอุปกรณ์และระบบ IoT นั้นๆ จะมีซอฟต์แวร์เป็นส่วนประกอบที่ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักสำคัญในการควบคุมอุปกรณ์ ประมวลผล พร้อมทั้งแสดงผลลัพท์ เพื่อให้อุปกรณ์และระบบเหล่านั้น ทำงานได้ตรงตามความต้องการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น ซึ่งในทางกลับกันซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์และระบบ IoT อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น ในทีนี้ขอยกประเด็นตัวอย่างของปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ดังนี้

  1. ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากผู้ไม่ประสงค์ดี ดังเช่น ตัวอย่างข่าวการถูกโจมตีกล้องวงจรปิด (CCTV) ครั้งใหญ่ที่สุดในโลกด้วย Botnet ทำให้เว็บไซต์สำคัญๆ ของในสหรัฐฯ ล่ม, ธนาคาร 5 แห่งในประเทศรัสเซียถูก Distributed Denial-of-Service (DDoS) โจมตีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน ทำให้ระบบบริการชองธนาคารล่ม, กล้องวงจรปิด 1.5 ล้านเครื่องถูกแฮกและฝัง Botnet เป็นต้น
  2. ปัญหาผู้ใช้งานถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ทั้งในด้านความปลอดภัยของข้อมูล และภัยในส่วนที่มีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบในด้านคุณภาพการดำเนินชีวิต เช่น Hacker อาจทำการเจาะ กล้องวงจรปิดภายในบ้านเพื่อค้นหาตำแหน่งที่เก็บทรัพย์สินที่มีค่าเพื่อวางแผนโจรกรรม
  3. ปัญหาผู้ผลิตโฆษณาคุณสมบัติการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่น มี 10 คุณสมบัติ แต่สามารถทำได้จริง 5 คุณสมบัติ
  4. ปัญหาผู้ผลิตนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐาน ที่ผู้ออกกฎประกาศไว้ มาวางจำหน่าย

    ทั้งนี้เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า อุปกรณ์หรือระบบ IoT ต่างๆ ที่เราใช้นั้นไม่เกิดปัญหาด้านปลอดภัยในการใช้งานและมีคุณลักษณะการทำงานที่ครบถ้วนตามที่กล่าวอ้างไว้ ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องมีการทวนสอบ (verification) และ การตรวจสอบ (validation) ตามมาตรฐานต่างๆ หรือข้อกำหนดหรือแนวทางที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะนำออกมาวางจำหน่าย เพื่อสร้างความมั่นใจ ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค รวมทั้งยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เทียบเท่าในระดับสากล

 

* อ้างอิงข้อมูล จากบทความพิเศษ “เทคโนโลยี Internet of Things และนโยบาย Thailand 4.0” จาก กสทช. (http://www.nbtc.go.th/getattachment/Services/quarter2560/ปี-2561/32279/เอกสารแนบ.pdf)